We use cookies to help provide you with the best possible online experience.
Please read our Privacy Policy and Cookie Policy for information about which cookies we use and what information we collect on our site.
By continuing to use this site, you agree that we may store and access cookies on your device.
2021-10-25
【ICHI TALK】ขอแนะนำบริษัทสตาร์ทอัพของไทยอีกหนึ่งแห่ง ผู้ให้บริการโปรแกรมบัญชีคลาวด์
ขอแนะนำบริษัทสตาร์ทอัพของไทยอีกหนึ่งแห่ง ผู้ให้บริการโปรแกรมบัญชีคลาวด์
รายการใหม่ “ICHI TALK” เชิญชวนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพในไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความหลงใหลในธุรกิจ
ผู้ดำเนินรายการ: วันนี้รายการ ICHI TALK ได้รับเกียรติจากคุณภีม เพชรเกตุ CEO และผู้ก่อตั้ง PEAK account.com ในประเด็นเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ที่ช่วยสร้างสตาร์ทอัพสู่ความสำเร็จ คุณภีมมีการเตรียมความพร้อมในการต่อสู้ทางด้านธุรกิจไว้อย่างดีแล้วใช่ไหมครับ
คุณภีม: ก็ต้องพยายามปรับตัวครับ
ผู้ดำเนินรายการ: อะไรคือเสน่ห์ของตัวเลข และทำไมคุณภีมถึงสนใจและเลือกเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขอย่างบัญชีครับ
คุณภีม: ผมชอบเลขมาตั้งแต่เด็ก และคิดว่าการตัดสินใจต้องใช้ข้อมูลเยอะ ก็มีอัลกอริทึม หรือวิธีการคำนวณแบบต่าง ๆ ซึ่งคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ สำหรับผม ผมชอบการคำนวณและดูลอจิก ซึ่งก็จะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องโปรแกรม และการเขียนลอจิกด้วยเช่นเดียวกัน
ผู้ดำเนินรายการ: ชอบจนตัดสินเข้าเรียนที่คณะบัญชีใช่ไหมครับ
คุณภีม: จริง ๆ ต้องบอกว่าตอนเด็ก ๆ ก็ไม่ได้ตัดสินใจเป็นเหตุเป็นผลเสียทุกเรื่องหรอกครับ ตอนแรกผมชอบดีไซน์ การออกแบบ เคยคิดอยากจะเรียนสถาปัตย์ แต่ก็ตามเพื่อนเลยได้เข้ามาที่คณะบัญชี อีกเหตุผลหนึ่งคือ ในตอนที่เรียนก็มีอาจารย์แนะแนวมาแนะนำให้ฟังว่าบัญชีเป็นภาษาพื้นฐานของธุรกิจ ถ้าเราเข้าใจบัญชีเราก็จะเข้าใจธุรกิจ ประกอบกับที่ตัวเองชอบทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็กก็เลยคิดว่าเรียนรู้บัญชีก็จะเป็นพื้นฐานที่ดีในการทำธุรกิจ
ผู้ดำเนินรายการ: ความสำคัญของบัญชีมีมากน้อยแค่ไหนและผู้ประกอบการธุรกิจของไทยนั้นมีความเข้าใจและทำบัญชีอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพไหมครับ
คุณภีม: ก็ต้องบอกว่าสำคัญมากครับ โดยเฉพาะในธุรกิจที่เริ่มโตขึ้นมาหน่อยนึงแล้ว ถ้าพูดกันตรง ๆ เลยก็คือ บัญชีสำคัญก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ความสำคัญลำดับแรกของผู้ประกอบการทุกคน แน่นอนว่าในช่วงแรกก็ต้องเน้นไปยังการขาย การหารายได้ หาลูกค้า แล้วเราก็จะโตขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่หากยังคงใช้วิธีการบริหารและการจัดการแบบเดิมก็อาจจะทำให้เราไม่โต ก็คือ เราขาดระบบการจัดการ หรือบัญชีที่ดี เราจะโตมาได้แค่ในระดับหนึ่ง แล้วก็ต้องวนกลับมาแก้ปัญหาในทุก ๆ วัน การมีระบบบัญชีจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้มากขึ้น ซึ่งบริษัทที่ต้องการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ความท้าทายหลักก็คือ การจัดการบัญชี เพราะในตอนแรกที่เรากำลังขยายธุรกิจก็อาจจะรีบไป ซึ่งอาจทำให้ระบบหลังบ้านไม่ค่อยเรียบร้อยนัก แต่เมื่อจะเข้าตลาดก็จำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่ดี จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ด้วย
ผู้ดำเนินรายการ: เคยได้ยินมาว่า หนึ่งบริษัทอาจมีบัญชีถึง 4 เล่ม คือ บัญชีจริง บัญชีสำหรับผู้ถือหุ้น สำหรับส่งตลาด และสำหรับภรรยาน้อย แต่จริง ๆ แล้วต้องมีเล่มเดียวใช่ไหมครับ
คุณภีม: จริง ๆ ก็ควรทำแค่เล่มเดียว เพราะถ้าเยอะข้อมูลก็จะมั่วไปหมด อีกทั้งก็ยังผิดกฎหมายอีกด้วย ยิ่งเมื่อมีผู้ถือหุ้น มีคนที่มีส่วนได้เสียกับหลาย ๆ กิจการ หลาย ๆ สภาพแวดล้อม ก็ควรทำให้โปร่งใส
ผู้ดำเนินรายการ: ในสมัยก่อนผู้ประกอบการก็จะจ้างเป็นแผนกบัญชี ในช่วงหลังก็จะเป็นการส่งต่อให้กับสำนักงานบัญชี ในตอนนั้นก็ยังเป็นอนาล็อกอยู่ใช่ไหมครับ ซึ่งเวลาที่กรมสรรพากรมีการเปลี่ยนกฎก็ยุ่งยากพอสมควรใช่ไหมครับ
คุณภีม: ก่อนที่จะมาทำ PEAK ก็เคยทำสำนักงานบัญชีมาก่อน ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่รู้สึกว่าไม่ make sense และเสียเวลาคือการต้องมานั่งคีย์ข้อมูลซ้ำ เพราะแต่ก่อนเอกสารเป็นกระดาษ เราต้องเอาข้อมูลมาเข้าสู่คอมพิวเตอร์ แล้วทำข้อมูลใหม่อีกรอบ
ผู้ดำเนินรายการ: ได้ยินมาว่าเมื่อก่อนทำธุรกิจที่ชื่อว่า Puun ในปี 2014 ใช่ไหมครับ
คุณภีม: ใช่ครับ
ผู้ดำเนินรายการ: เมื่อทราบถึง pain point ของธุรกิจนี้ การทำอะไรซ้ำ ๆ ที่เป็นปัญหาของผู้ประกอบการนั้นเป็นโอกาสสำคัญในการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพที่จะโดดเข้าไปเลยไหมครับ
คุณภีม: จุดนี้ก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่เข้ามาทำ PEAK ด้วยนะครับ เนื่องจากการทำงานแบบเดิมนั้นไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงข้อมูลก็เอาไปใช้ประโยชน์ได้ค่อนข้างยาก จึงต้องการที่จะพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจมีบัญชีที่ดี นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้จริง มีการจัดการที่เป็นระบบมากขึ้น และใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้เต็มที่มากขึ้น นอกจากมีประโยชน์ในการบริหารจัดการภายในแล้ว ก็ยังช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น ซึ่งแต่ก่อนผมเคยทำงานที่ธนาคาร แน่นอนว่าทุกธนาคารต้องการปล่อยกู้เพื่อกินดอกเบี้ย แน่นอนว่าก็ต้องปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่มีแนวโน้มว่าน่าจะมีกำลังจ่ายหนี้คืน ซึ่งในโลกธุรกิจจะใช้งบการเงินเป็นตัวสื่อสารการประเมินโอกาสอยู่รอด และเติบโตของบริษัท ดังนั้นหากธุรกิจไม่มีงบการเงิน การไปกู้ธนาคารก็ค่อนข้างยาก แต่ถ้ามีงบการเงิน การจัดการบัญชีที่ดี และข้อมูลที่พร้อมให้กับธนาคาร ก็ช่วยให้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ: การทำบัญชีที่ดี สามารถสะท้อนผลการทำธุรกิจก็ยิ่งทำให้โอกาสในการขอกู้กับทางธนาคารน่าจะง่ายขึ้น
คุณภีม: ใช่ครับ นอกจากเรื่องการกู้เงินที่เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดหาเงิน มันก็มีหลายรูปแบบแล้ว อย่างเช่น ในกรณีของสตาร์ทอัพก็จะเป็นการระดมทุนจากนักลงทุน หรือจะเป็นการหาเงินจากนักลงทุนรายย่อย crowd funding จะเป็นการทำ JV หรือรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการหาทุนด้วยรูปแบบใดก็แล้วแต่ การที่จะมีคนมาร่วมลงทุนด้วยก็คือต้องมีบัญชีที่ดีก่อน
ผู้ดำเนินรายการ: เมื่อต้องเปลี่ยนจากอนาล็อคเป็นดิจิทัล คำว่า “บัญชีออนไลน์” ก็ถือว่าเป็นของใหม่ในยุคนั้นเลยทีเดียว อะไรที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงจนขนาดที่ว่า ณ วันนี้ทุกคนต้องทำบัญชีออนไลน์กันแล้ว
คุณภีม: ต้องบอกว่าตอนนี้ก็ยังเป็นช่วง early ของอุตสาหกรรมการทำบัญชีออนไลน์เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่นที่มีการใช้บัญชีออนไลน์ประมาณ 20-30% ในส่วนของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์หรืออเมริกาอาจสูงถึง 60% ถ้ามาดูในไทยตอนนี้น่าจะไม่ถึง 10% ยังเล็กและยังมีช่องให้เติบโตอีกค่อนข้างเยอะ เพราะส่วนใหญ่ก็ยังใช้ solution ออฟไลน์กันอยู่ แต่เรียกว่าเราโชคดีเพราะตอนที่เริ่มทำโปรแกรมนี้ คนเริ่มได้เจอเทคโนโลยี Cloud มาระดับหนึ่ง เช่น Dropbox, Google drive หรือ Office365 ของไมโครซอฟต์ ซึ่งผู้คนก็มีการใช้เครื่องมือเหล่านี้ที่เป็นออนไลน์กันอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ความท้าทายในด้านของบัญชีคือ เมื่อพูดถึงข้อมูลบัญชี คนก็จะคิดว่าต้องเป็นความลับไม่ให้คนอื่นเข้าถึง ซึ่งในส่วนนี้เราก็ต้องอธิบายและให้ความรู้ว่าถึงแม้ข้อมูลจะอยู่บนออนไลน์แต่ก็ยังคงเป็นความลับอยู่
ผู้ดำเนินรายการ: เห็นว่ามีโอกาสไปเรียนต่อ MBA ที่ญี่ปุ่น ซึ่งก็คงเป็นแรงบันดาลใจในธุรกิจนี้ใช่ไหมครับ
คุณภีม: ใช่ครับ ผมเรียนอยู่สักพักหนึ่งเลยครับ พอเรียนจบแล้วเข้าทำงานก็มีโอกาสได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปเรียนต่อที่นั่น ในปีแรกมีการบังคับให้เรียนภาษาญี่ปุ่นก่อน ผมก็เรียนไปประมาณปีครึ่ง แล้วก็ไปเรียนปริญญาโท MBA ต่อครับ
ผู้ดำเนินรายการ: ได้นำประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตทั้งการเรียนและการทำงานมารวมเข้าด้วยกันแล้วสร้างโปรเจ็คที่ชื่อว่า Puun หรือเปล่าครับ
คุณภีม: ในตอนแรกสุดผมอยากทำรีสอร์ท เพราะว่าผมเป็นคนภูเก็ต แต่พอมาเรียนก็มีภาพที่กว้างขึ้น ซึ่งไอเดียนี้เริ่มจากตอนเรียนที่ญี่ปุ่นในปีแรก ๆ ผมได้เรียนวิชาที่ชื่อว่า Service science ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิชาเกี่ยวกับการให้บริการเลยไปลงเรียน เพราะตัวเองอยากทำโรงแรม แต่วิชานี้กลายเป็นวิชาที่นำทฤษฎีด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ มาอธิบายปรากฏการณ์ในภาคธุรกิจ หนึ่งในเคสที่นำมาสอนเป็นเรื่อง Complex system, Kiosk theory มาอธิบายวิกฤตเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงปี 80 ก็ไปศึกษาจากธุรกิจที่ล้มว่ามีรายการค้ากับบริษัทอะไรบ้าง ดูความสัมพันธ์ ลำดับของเวลาในการล้มละลาย ก็จะไปเจอว่าในการล้มละลายมันเป็นโดมิโน่เอฟเฟค เลยทำให้คิดว่าถ้าเกิดเราสามารถติดตามผลประกอบการของธุรกิจได้ก่อนที่จะเกิดปัญหา หรือ เห็นปัญหาว่าอยู่ตรงไหนละให้ภาค policy maker เข้าไปช่วยก่อนที่จะล้ม ก็น่าจะช่วยป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจได้ เลยคิดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นตัวที่เราอยากทำ แต่ไม่ถึงขั้นจับมาทำเป็นธุรกิจ แค่นำมาทำอยู่ในระดับ policy ส่วนตอนที่เรียนปริญญาโทก็มีการทำ Research plan ซึ่งผมได้เขียนเกี่ยวกับ Business on cloud ก็จะเกี่ยวกับการทำธุรกิจรวมถึงการเก็บข้อมูลบน cloud ซึ่งช่วยทำให้การจัดการข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราทำกันอยู่ในปัจจุบันนี่เอง
ผู้ดำเนินรายการ: ตอนนั้นใช้คำว่า Puun ใช่ไหมครับ
คุณภีม: ใช่ครับ ตอนนั้นกลับไทยมากเริ่มมาทำ Puun ในปี 2014 เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจ คือการเอาข้อมูลของงบการเงินมาวิเคราะห์ บอกจุดอ่อนจุดแข็ง ปัจจัยด้านความเสี่ยง และสิทธิภาพของธุรกิจ แต่ดันไปไม่สวย เพราะเวลาใช้งานจริงค่อนข้างยาก เพราะในยุคนั้นข้อมูลยังไม่เป็นออนไลน์ แต่ละโปรแกรมมีฟอร์แมตไม่เหมือนกัน ทำให้การนำข้อมูลไปวิเคราะห์นั้นทำได้ยาก ก็เลยหาไอเดียใหม่โดยทำตั้งแต่ต้น ก็คือการจัดการเอกสาร บันทึกบัญชี ทำข้อมูล ทำงบการเงินขึ้นมา ทำให้เราเห็นภาพและได้จับข้อมูลเบื้องต้นเลย
ผู้ดำเนินรายการ: ในตอนนั้นที่ตั้งใจจะทำเป็นอินฟราและได้ผันตัวมาเป็นสตาร์ทอัพ จึงได้รู้จักกับรุ่นพี่จากการที่เข้าสู้วงการนี้ใช่ไหมครับ
คุณภีม: ใช่ครับ จริง ๆ แล้วผมเจอครั้งแรกในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนตอนเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น โดยได้เข้าร่วมโครงการ “ขุนศึกซามูไร” และไปดูว่าธุรกิจ เทคโนโลยี สตาร์ทอัพในยุคแรก ๆ เป็นอย่างไร ก็ได้มีการแนะนำให้รู้จักกันหลายคน เช่น พี่โบ๊ท พีป้อม พี่หมูก็เจอ แล้วก็พี่ยอด wongnai ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักว่าโครงการนี้น่าสนใจ และยังเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่เราก็ชอบเหมือนกัน
ผู้ดำเนินรายการ: ถ้าเปรียบเทียบสตาร์ทอัพในยุคก่อนกับปัจจุบัน มีความเหมือนและแตกต่างอย่างไรบ้างครับ
คุณภีม: ต่างกันเยอะนะครับ โดยมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี แต่ว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติของการพัฒนาอยู่แล้ว ในตอนที่ทำ Puun รู้สึกได้เลยว่าวงการมันเล็ก และทุกคนช่วยเหลือกันและกันมาก การพูดคุยหรือขอคำแนะนำก็ง่าย เงินที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพก็ยังน้อย ไม่ได้มีการแข่งขันหรือนักลงทุนมากนัก ให้ความรู้สึกเหมือนชมรมในมหาวิทยาลัย พอวงการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ นักลงทุนก็เข้ามาค่อนข้างเยอะ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากถึงขั้นมีการจัดงาน Thailand Startup ซึ่งในช่วงนั้นธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดขึ้นเยอะมาก แต่พอผ่านมาสักพักหนึ่งก็อาจจะมีการล้มหายตายจากไปบ้าง หรือเห็นว่าไม่ประสบความสำเร็จเลยอาจจะลงทุนน้อยลง ทำให้ในช่วงหลัง ๆ การลงทุนจะไปอยู่ในซีรีส์เอมากกว่า คือ เป็นธุรกิจที่ได้รับการยืนยันแล้วในระดับหนึ่ง ทำให้อาจจะเห็นภาพการลงทุนแล้วสร้างสิ่งใหม่ ๆ ในสตาร์ทอัพน้อยลง
ผู้ดำเนินรายการ: เมื่อเกิดวิกฤตการระบาดของ COVID-19 ขึ้น PEAK สามารถก้าวผ่านไปได้อย่างไร
คุณภีม: จริง ๆ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการปรับตัว ซึ่งในกรณีของตัวเอง แต่ก่อนเป็นคนที่ไม่ชอบการทำงานจากที่บ้าน และตัวเองก็ไม่อยากให้พนักงานทำงานที่บ้าน ไม่ได้หมายความว่าจะกลัวว่าเขาจะไม่ทำงาน แต่อยากให้พวกเขามาที่ออฟฟิศ ได้มาเจอเพื่อน มีการปฏิสัมพันธ์ แต่พอเกิดโรคระบาดตัวผมเองก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและปรับให้เข้ากับสถานการณ์ จึงเกิดการปรับตัว และคิดว่าทำอย่างไรให้เราสามารถทำงานที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารจัดการการเงินที่ต้องดูให้ดี และไม่เกิดการผิดพลาด
ผู้ดำเนินรายการ: รบกวนฝากข้อคิดในการทำธุรกิจในปัจจุบันและในวันข้างหน้า ทั้งในระดับ SME สตาร์ทอัพหรือผู้ที่ต้องการจะทำธุรกิจ
คุณภีม: ผมอยากจะฝากเอาไว้ 3 ข้อนะครับ คือ
1. อยากให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าในอนาคตเราอยากจะเป็นอะไร และไปทางไหน
2. การนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจ เช่น การฟังความคิดเห็นลูกค้า การมีข้อมูลบัญชีที่ดี
3. การสร้างคน ซึ่งสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นเลย โดยต้องพยายามสร้างทุกคนในทีมให้เก่งขึ้น เพื่อมาเป็นกำลังที่ช่วยในการพัฒนา
※ผู้สนใจชมรายการ ICHI TALK ในตอนของคุณภีม เพชรเกตุ สามารถลงทะเบียนเข้างาน JRIT ICHI เพื่อเข้าชมย้อนหลังได้ใน Community Zone