We use cookies to help provide you with the best possible online experience.
Please read our Privacy Policy and Cookie Policy for information about which cookies we use and what information we collect on our site.
By continuing to use this site, you agree that we may store and access cookies on your device.
2021-10-23
【ICHI TALK】ความฝันของ "Zipevent" ผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มอีเวนต์ออนไลน์แห่งแรกในไทย
ความฝันของ "Zipevent" ผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มอีเวนต์ออนไลน์แห่งแรกในไทย
รายการใหม่ “ICHI TALK” เชิญชวนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพในไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความหลงใหลในธุรกิจ
ผู้ดำเนินรายการ: รายการ ICHI TALK วันนี้ เราพาไปพบกับผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ ผู้ประสบความสำเร็จในการสานฝันแนวคิด คุณเจ ภาโรจน์ เด่นสกุล CEO และ Co-founder แห่ง Zipevent Co., Ltd. เจ้าของแพลตฟอร์ม Zipevent ครับ คุณเจมีความฝันตั้งแต่เด็กเลยหรือไม่ครับ ว่าโตขึ้นอยากทำอาชีพอะไร แล้วอะไรคือเป้าหมายในชีวิต
คุณเจ: ตั้งแต่เด็กก็คิดอยากทำบริษัทของตัวเอง สมัยเรียนก็คอยมองหาลู่ทางว่ามีช่องทางไหนที่เราจะเป็นเจ้าของกิจการเองได้บ้าง ประกอบกับตอนเด็กคุณพ่อคุณแม่ชอบพาไปงานอีเว้นต์ ซึ่งความน่าสนใจของอีเว้นต์ คือ การดึงดูดผู้คนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกันมารวมตัวกัน ซึ่งภายในงานก็จะมีเกมและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราสามารถเข้าไปร่วมสนุกได้ เมื่อโตขึ้นก็ได้เห็นว่ามีงานอีเว้นต์ที่น่าสนใจอีกมากมาย และโดยส่วนตัวก็ชอบไป เรียกว่ามี passion ทั้งในด้านการทำธุรกิจและอีเว้นต์ทั้งคู่เลย
ผู้ดำเนินรายการ: ในช่วงวัยเด็กหลายคนยังสนุกกับการเล่นตามวัย แต่คุณเจมีแนวคิดที่อยากจะเป็นนักธุรกิจแล้วเหรอครับ
คุณเจ: ใช่ครับ ตั้งแต่ตอนเด็กก็พยายามค้นหาสิ่งใหม่ ๆ และมีความสนใจในด้านการลงทุน จึงมีความสนใจว่าจะทำอย่างไรจึงจะมีธุรกิจของตัวเองได้โดยให้เงินทำงาน หรือเป็นผู้ประกอบการแล้วใช้ทรัพยากร เช่น พนักงาน เพื่อเข้ามาช่วยให้ดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถใช้เงินจากรายได้ในส่วนนี้มาต่อยอดธุรกิจได้ต่อไป
ผู้ดำเนินรายการ: ตอนเด็ก ๆ มีโอกาสได้ทดลองค้าขายไหมครับ
คุณเจ: ครับ จริง ๆ ผมเป็นคนชอบเล่นเกม ก็จะมีการซื้อขายไอเท็มในเกมบ้างครับ
ผู้ดำเนินรายการ: มีอุปสรรคอะไรไหมในการเป็นนักธุรกิจที่มีอายุและประสบการณ์น้อย
คุณเจ: อุปสรรคสำคัญเลย คือ ตอนเด็ก ๆ ความรู้และประสบการณ์ยังไม่เยอะ จะทำอย่างไรให้ทรัพยากรที่เรามีสร้างผลตอบแทนกลับมาได้ สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทำตอนเด็กก็จะจบลงไปตอนนั้น เพราะไม่ได้มีการต่อยอด แต่ก็เป็นประสบการณ์และจุดเรียนรู้ที่ดีที่สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจปัจจุบัน หรือ Zipevent ได้
ผู้ดำเนินรายการ: เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เหตุผลที่ตัดสินใจเรียนวิศวกรรมอุตสาหการ คืออะไร
คุณเจ: สิ่งหนึ่งคือผมเป็นคนชอบวิศวะ ชอบการคำนวณ และชอบการบริหาร จากที่เรามี passion มาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ และคิดว่าวิศวอุตสาหการเป็นศาสตร์ที่ผนวกทั้งสองศาสตร์ของวิศวะกับการบริหารจัดการเข้าด้วยกัน แล้วก็อีกส่วนที่น่าสนใจ คือ อุตสาหการพยายามที่จะเน้นเรื่องการทำ optimization, process และการทำ improvement ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการช่วยให้ธุรกิจก้าวต่อไป และสามารถก้าวผ่านอุปสรรค หากเราเจอสถานการณ์ที่ไม่ดีแล้วสามารถปรับตัวก็จะทำให้บริษัทสามารถเดินต่อได้
ผู้ดำเนินรายการ: หลังจากเรียนจบได้เข้าทำงานเป็นพนักงานที่บริษัทไหนไหม หรือว่าโดดเข้าสู่วงการอีเว้นต์เลยครับ
คุณเจ: ผมทำงานที่ SCG เป็นที่แรก ในตำแหน่งวิศวกรที่ดูแลเรื่องไอที เหมือนเราก็ได้ประสานงานในเรื่องของการทำโปรเจ็คต่าง ๆ ใน SCG เช่น ระบบในการจัดการการขนส่ง ระบบในการทำการพัฒนา ต่าง ๆ ตรงนี้ก็ทำให้เห็นว่าการใช้ไอทีสามารถเข้ามาพัฒนาการระบบการทำงานของธุรกิจได้ ช่วยในการรีเทิร์นกลับมาเป็นตัวเลขของรายรับ หรือการพัฒนาในเรื่องของความพึงพอใจของลูกค้าได้จริง ๆ
ผู้ดำเนินรายการ: เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ 4 ปี รึเปล่าครับ
คุณเจ: ใช่ครับ ทำงานทั้งหมด 4 ปี พอถึงช่วงที่เข้าสู่ปีที่ 4 ของการทำงาน ก็เริ่มรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ไปเข้าโครงการสตาร์ทอัพ เริ่มเอาไอเดียที่เกี่ยวกับอีเว้นต์มาทำเป็นแพลตฟอร์ม ในการทำและจัดการอีเว้นต์
ผู้ดำเนินรายการ: คุณเจมีหลักการอย่างไรในการเลือกคนทำเข้ามาทำงานที่ตัวเองฝันไว้ตั้งแต่เด็ก
คุณเจ: Co-founder ของผมในตอนแรกที่มีนั้นเราเติมเต็มทุกด้านซึ่งกันและกัน ตัวผมจะถนัดเรื่องธุรกิจ มีความรู้เรื่องวิศวะกับการเขียนโปรแกรมเล็กน้อย แต่พาร์ทเนอร์ของเราที่เลือกมาตอนแรกก็จะเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาด ก็คือ การพัฒนาโปรแกรมหรือการ coding ซึ่งหลักการในการเลือกพาร์ทเนอร์คือ มาเติมเต็มซึ่งกันและกัน และเป็นคนที่พร้อมที่จะบุกน้ำลุยไฟไปพร้อมกับเรา เพราะหากเขาออกไปกลางคัน หรือว่าเราเจออุปสรรค เข้าต้องพร้อมที่จะลุยกับเรา และมี passion ในสิ่งที่กำลังทำอยู่จริง ๆ
ผู้ดำเนินรายการ: หา passion ยังไง แล้วนำมาใช้เพื่อผลักดันให้เกิดธุรกิจได้อย่างไรบ้าง
คุณเจ: เราต้องหาสิ่งที่เราสนุกและสามารถทำได้โดยไม่เบื่อ ซึ่งโดยส่วนตัวคือ การไปอีเว้นต์ แต่ว่าจะเปลี่ยน passion ตรงนี้มาเป็นธุรกิจอย่างไรนั้นคือสิ่งที่สำคัญกว่า เพราะถึงเราจะรู้วามี passion แต่เป็นสิ่งที่ไม่ถนัด หรือไม่สามารถหารายได้จากมันได้ เหล่านี้ก็จะเป็น passion ที่ทำให้เกิดธุรกิจจริงไม่ได้ ซึ่งต้องประกอบจาก passion และโมเดลธุรกิจที่เกิดจาก passion นั้น ๆ ได้
ผู้ดำเนินรายการ: หลายคนกล่าวว่าสตาร์ทอัพเกิดจากการที่เราสามารถหา pain point ได้เจอ และ pain point นั้นจะต้องดี และมีคุณสมบัติมากเพียงพอที่จะกลายมาเป็นธุรกิจ มั่นใจไหมครับว่า pain point ในแวดวงต่าง ๆ มากพอและทำให้กลายมาเป็น Zipevent ได้
คุณเจ: จากตอนแรกก็ไม่ค่อยมั่นใจนะครับ เราเริ่มจาก pain point ของฝั่งคนไปงานก่อน ในแง่ของการทำอีเวนต์มีหลายส่วน คนจัดงาน คนไปงาน ผู้ประกอบการที่ออกบู๊ท ในตอนนั้นยังไม่มีเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มที่จะรวมอีเว้นท์ที่มันครบถ้วน เราก็เลยสร้าง Zipevent จากตรงนั้นว่า เราอยากจะเป็นที่ที่รวมอีเว้นต์ที่ครบถ้วนที่สุด จากนั้นจึงต่อยอดไปยัง pain point ของคนจัดงาน ทำอย่างไรจึงจะโปรโมทได้ตรงขึ้น การเก็บข้อมูลลงทะเบียน หรือทำอย่างไรจึงจะขายบัตรได้ไวขึ้น แล้วก็ process ให้คนเหล่านั้นเข้างานของเขาได้เร็วที่สุด เราจึงได้เรียนรู้ว่าในอุตสาหกรรมอีเว้นท์ มี pain point ที่เกิดขึ้นในแต่ละจุดอีกเยอะแยะมากมาย ในฐานะที่เราเป็นผู้ประกอบการสามารถเข้าไปช่วยพัฒนาส่วนนั้นได้
ผู้ดำเนินรายการ: การเข้าไปชมงานผ่านทาง Zipevent ทุกอย่างสะดวกง่ายดายหมดเลยครับ แก้ทุก pain point ได้หมดเลยไหมครับ
คุณเจ: ก็อาจจะยังไม่ขนาดนั้น แต่ว่าก็พยายามจะศึกษาลูกค้า โดยให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางว่าจะทำอย่างไรให้เขาสามารถใช้งานได้ง่ายที่สุด และเนื่องจากอีเว้นต์มีผู้ใช้งานทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยผู้สูงอายุ จึงต้องการที่จะออกแบบตัวแพลตฟอร์มหรือการใช้งานให้ง่ายที่สุด ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ผู้ดำเนินรายการ: พอมาเป็นสตาร์ทอัพ หลายคนบอกว่าโอกาสสำเร็จนั้นมีน้อยนิด และมีโอกาสล้มเหลวสูง แต่ว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จก็มักจะผ่านความล้มเหลวมาเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าคุณเจไม่ได้เชื่อแบบนั้น เรามีความเชื่อที่แตกต่าง แตกต่างอย่างไรครับ
คุณเจ: หลายสตาร์ทอัพที่ทุกคนเห็นอาจจะเน้นเรื่องระดมทุน เน้นให้มีการสร้างฐาน user เยอะ ๆ แต่ตอนที่เราเริ่มเราต้องการเน้นเรื่องพื้นฐานของการทำธุรกิจ ซึ่งก็คือ กระแสเงินสด รายได้ และกำไรของการทำธุรกิจ เพราะผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเรามี user จำนวนมหาศาล แต่ว่าธุรกิจไม่สามารถเติบโตหรือดำเนินเองได้ด้วยกำไรหรือด้วยรายได้จากลูกค้า ซึ่งตรงนี้มันจะไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นเราเลยโฟกัสในการทำฐานรากของบริษัทให้แข็งแรงก่อน พอเราแข็งแรง มีสินค้า มีลูกค้าที่ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เราจึงค่อยเน้นในการขยายเติบโตออกไป
ผู้ดำเนินรายการ: เรียกได้ว่าโตช้าแต่มั่นคง และสร้างความมั่นใจทำให้สามารถระดมทุนได้ เพราะเกิดความน่าเชื่อถือเกิดขึ้น ในจุดของการเป็น Zipevent เข้าใจว่าช่วงเวลาที่ตัดสินใจทำ อาจจะยังไม่มีผู้เล่นเจ้าอื่น Zipevent น่าจะมาแรก ๆ เลยของเมืองไทยหลังจากเปิดตัวผลการตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
คุณเจ: ต้องบอกว่าตอนแรก ๆ ตอนที่เราทำช่วงปี 2014 ยังค่อนข้างใหม่ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีแง่ของอุตสาหกรรมอีเว้นต์ก็ยังค่อนข้างใหม่มาก ในตอนแรกก็มีอุปสรรคเยอะเหมือนกันในการเข้าไปบอกเล่าถึงสินค้า และเราช่วยอะไรเค้าได้ ซึ่งในตอนเริ่มก็ลำบากมากเพราะลูกค้ามองไม่เห็นภาพว่าระบบตรงนี้จะมาช่วยอะไรเค้าได้ อีกอย่างก็คือยังไม่มีใครทำมาก่อน เราเลยแก้ปัญหาด้วยการใช้ลูกค้าทดลองใช้เลย โดยมีงานแรกที่เป็นงานใหญ่เกี่ยวข้องกับการเงินที่ใช้บริการเรา เราก็ให้ทดลองใช้ เก็บข้อมูลต่าง ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเก็บข้อมูล feed back ของลูกค้าหรือผู้จัดการ เพื่อนำมาพัฒนาต่อ และพอเริ่มมี portfolio เราก็เริ่มมีงานที่ใหญ่ขึ้น และก็มีลูกค้าที่เริ่มจ่ายเงินเราจริง ๆ
ผู้ดำเนินรายการ: การปรับตัวของ Zipevent ตั้งแต่ปี 2014 จนมาถึงปัจจุบันก็คงผ่านร้อนผ่านหนาว และอะไรหลาย ๆ อย่าง เคยเจอปัญหาที่หนักและต้องปรับตัวเยอะมากบ้างไหมครับ แล้วแก้ไขกันอย่างไร
คุณเจ: ที่หนักล่าสุดก็คือ โควิด-19 ที่ผู้ประกอบการทุกคนคงจะเจอในปี 2020 นี่เอง เนื่องจากว่าเราทำระบบที่อยู่ในอุตสาหกรรมอีเว้นต์ แล้วพอมีโควิดทำให้อีเว้นต์ไม่สามารถจัดได้ คนไม่สามารถรวมตัวกันได้ แปลว่าอีเว้นท์ที่เกิดขึ้นเป็นพันเป็นหมื่นต่อปีก็หายไปหมด ในตอนแรกที่เราทำคือ solution ของงานอีเว้นต์แบบ offline เราก็เลยปรับตัวอย่างใหญ่หลวง โดย re-skill ทั้งพนักงาน ทำสินค้าขึ้นมาที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการออนไลน์ และ virtual event ซึ่งตัวนี้ตอบโจทย์กับทางอุตสาหกรรมทั้งในฝั่งของผู้จัดงานก็ดี หรือว่าเจ้าของงานต่าง ๆ ก็พยายามปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤตนี้เช่นเดียวกัน
ผู้ดำเนินรายการ: อีเว้นที่เป็น offline เปลี่ยนวิถีใหม่เป็น New Normal นั่นแสดงว่าเราสามารถไปงานอีเว้นต์ต่าง ๆ ได้ทาง online แบบที่เราคุยกันแบบนี้ก็ได้รึเปล่าครับ
คุณเจ: ใช่ครับ แน่นอนเลยครับ การทำ online หรือ virtual มันมีข้อดีอยู่เยอะมากก็คือ จากเดิมในการจัดงาน จะมีคนมาร่วมงานจำกัดด้วยพื้นที่ของสถานที่จัดงานเอง สองคือเรื่องเวลา ที่จะต้องมางานในช่วงเวลาที่เปิดเท่านั้น รวมถึงเรื่องการเดินทางด้วย แต่เมื่อทุกอย่างย้ายมาอยู่บน virtual หรือ online ข้อดีคือผู้ที่สนในสามารถเข้างานได้จากทุกที่ทุกเวลา จะอยู่ต่างประเทศหรือเข้าชมงานตอนกลางคืนก็สามารถทำได้ ในฝั่งของผู้จัดงาน แน่นอนว่าในปกติคือคนมาเดินในงานเราไม่รู้เลยว่าเขาเดินไปคุยกับใคร หรือไปดูสินค้าใดบ้าง แต่เมื่อทุกอย่างอยู่บนออนไลน์เราสามารถติดตามและรู้ข้อมูลทุกอย่างได้เลยว่า ตอนนี้ลูกค้าสนใจบริษัทไหนมากที่สุด แล้วก็ดูสินค้าใดมากที่สุด ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อผู้จัด เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์และพัฒนางานตัวเองต่อ
ผู้ดำเนินรายการ: ถ้าจะให้ยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัด ๆ อย่างที่เรากำลังคุยกันในรายการ ICHI TALK เนี่ย ภายใต้การบริหารจัดการของ JRIT ICHI นี่ก็คือวิธีหนึ่งใช่ไหมครับ อยากจะให้คุณเจช่วยเล่ากระบวนการต่าง ๆ ให้เราฟังหน่อยครับ
คุณเจ: อย่างในงานของ JRIT ICHI เรามีโซนต่าง ๆ มากมาย อย่างเช่น Webinar Zone และ Exhibition Zone ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็น ในหลังบ้านก็มีการตระเตรียมข้อมูลในการจัดเตรียมระบบต่าง ๆ ก็ใช้เวลาพอควร และส่วนนี้ผมคิดว่ามันมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจ ให้ทุกคนเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ภายในงาน เหมือนกับเวลาที่เราไปงานจริง ๆ เลย แต่ว่าเราจำลองขึ้นมาอยู่บน virtual เท่านั้นเอง
ผู้ดำเนินรายการ: ทราบมาว่ามีแนวคิดหนึ่งชื่อว่า “First time founder ,Lifelong learner” ประโยคนี้สะท้อนอะไรบ้าง แล้วหลาย ๆ ท่านที่กำลังเป็นผู้ประกอบการอยากจะใช้แนวทางอย่างนี้ได้หรือไม่ คิดเห็นอย่างไรครับ
คุณเจ: สำหรับผู้ประกอบการทุกท่านที่มีความต้องการที่จะเรียนรู้หรือพัฒนาตัวเองตลอด ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ต้องพยายามที่จะปรับตัว คิด และก็ผลักดันตัวเองอยู่เสมอ เพราะทักษะที่เรามีในปีที่แล้ว ปีหน้ามันอาจจะไม่ได้ใช้งานเยอะเท่าไรก็ได้ เช่น ทีมของตนที่ทำงานอีเว้นต์ offline มาตลอด แต่พอย้ายแพลตฟอร์มมาอยู่บน online ก็ไม่มีใครเคยทำการ live streaming การใช้ระบบต่าง ๆ ที่อยู่บน online ซึ่งเราก็ต้องเรียนรู้และปรับตัว ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่ผู้ประกอบการต้องมี เพราะในอนาคตเราไม่อาจคาดเดาได้ว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงสังคม หรือโรคระบาด เราจะเรียนรู้และปรับตัวอย่างไรเพื่อพาให้ธุรกิจอยู่รอดได้
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือการใช้ชีวิต ผู้ที่ดิ้นรนและปรับตัวเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ไปต่อ จริงไหมครับ
คุณเจ: ถูกต้องที่สุดเลยครับ
ผู้ดำเนินรายการ: Zipevent กำลังขยับขยายธุรกิจอย่างไม่หยุดนิ่ง ได้ยินว่าจะขยายไปยังต่างประเทศด้วย แม้จะมีวิกฤตโควิด-19 ก็ตาม
คุณเจ: ใช่ครับ นอกจากลูกค้าที่อยู่ในไทยก็เริ่มมีลูกค้าประเทศอื่นเข้ามาใช้บริการด้วย เช่น สิงคโปร์ อินเดีย อเมริกา เป็นต้น ซึ่งพอแพลตฟอร์มเราอยู่บนออนไลน์ มันไม่มีอุปสรรคทางเรื่องการเดินทาง หรือภาษา หรือเวลา ลูกค้าสามารถใช้แพลตฟอร์มเราในการจัดงานได้จากต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นข้อดีที่ทำให้เราสามารถขยายไปยังต่างประเทศได้ โดยที่ไม่ต้องมีการลงทุนเพิ่ม
ผู้ดำเนินรายการ: สังเกตนะครับว่าเป็นแพลตฟอร์มไม่ใช่แอปพลิเคชัน เพราะถ้าเป็นแอปพลิเคชันจะได้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อเป็นแพลตฟอร์มก็ world wide ได้เลยทีเดียว ในทีม Zipevent มีคนหนุ่มสาวมากกว่าคนสูงวัยไหมครับ
คุณเจ: อันที่จริงอายุของผมก็น่าจะเยอะที่สุดในบริษัท ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กจบใหม่ หรือมีประสบการณ์ไม่เกิน 4-5 ปีครับ เรียกว่าเป็นรุ่น young generation ที่มาทำงานในบริษัท
ผู้ดำเนินรายการ: ข้อดีที่มีคนหนุ่มสาวเข้ามาทำงานในสถานการณ์ที่อาศัยความทันสมัย คืออะไรครับ
คุณเจ: ข้อดีของคน gen นี้คือ เรียนรู้เร็ว เพราะเป็นยุคที่เติบโตมาพร้อมกับมือถือ คอมพิวเตอร์ google เมื่ออยากรู้อะไรก็สามารถหา และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง พัฒนาตัวเองได้ดี อีกส่วนที่น่าสนใจคือเวลาทำงานอะไรจะพยายามทำให้สำเร็จและเรียบร้อยจริง ๆ เป็นคุณสมบัติของคนรุ่นใหม่ที่เวลาเค้าอินอะไรจะทุ่มสุดตัวและทำอย่างเต็มที่
ผู้ดำเนินรายการ: ถ้าเกิดใครมีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน แล้วเปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็น ร่วมพูดคุย ก็น่าจะเป็นข้อดีขององค์กรเลยนะครับ
คุณเจ: ใช่ครับ ผมพยายามจะให้แต่ละทีมมีบทบาท มีความคิดเห็นของตัวเองได้ อยากจะเสนอหรือปรับปรุงตัวระบบหรือการทำงาน เรายินดีเปิดรับทั้งหมด จริงมีคำญี่ปุ่นคำหนึ่งที่ผมชอบคือคำว่า “ไคเซน” คือเราพยายามให้เกิดการปรับปรุงสิ่งเล็ก ๆ ทุกส่วน และทุกคน เราให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมที่จะช่วยในการพัฒนาแต่ละส่วนให้ดีขึ้นทุกวัน
ผู้ดำเนินรายการ: คุณเจพึงพอใจในธุรกิจ Zipevent ในระดับใด และตั้งเป้าหมายในอนาคตเอาไว้อย่างไรบ้าง
คุณเจ: ตอนนี้ก็ค่อนข้างพอใจ เราก็เติบโตมาในระดับหนึ่ง มีฐานผู้ใช้งานค่อนข้างที่ใช้งานเราอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตคิดว่าจะขยายตลาดไปยังต่างประเทศนอกเหนือจากลูกค้าในประเทศไทย รวมถึงขยายบริการและสินค้าให้ครอบคลุมการใช้งานในอุตสาหกรรมอีเว้นต์ให้มากขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ: รบกวนคุณเจให้กำลังผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพหน้าใหม่ รวมไปถึงผู้ประกอบการ SME องค์กรต่าง ๆ ว่าเราจะต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถอยู่รอดและไปได้ดี
คุณเจ: ตอนนี้ผมคิดว่ากำลังใจสำคัญที่สุด ก็เป็นกำลังใจให้ทุกคนก้าวผ่านสถานการณ์ในตอนนี้ไปได้ อีกสิ่งคือ ต้องพยายามปรับตัว เรียนรู้ในสิ่งใหม่ สำรวจว่าในอนาคตบริษัทเรายังขาดอะไรอยู่แล้วเราจะก้าวไปยังไง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตรงนั้น อย่างที่บอกว่ากำลังใจต้องเติมเต็มเสมอ รวมไปถึง passion อย่าลืมสื่อสารกับลูกทีมหรือพนักงานในบริษัทให้มีความเชื่อ หรือว่ามี passion ให้รู้ว่าบริษัทนี้เราทำเพื่ออะไร เราเกิดมาเพื่ออะไร แล้วอยู่ไปเพื่ออะไร
※ผู้สนใจชมรายการ ICHI TALK ในตอนของคุณภีม เพชรเกตุ สามารถลงทะเบียนเข้างาน JRIT ICHI เพื่อเข้าชมย้อนหลังได้ใน Community Zone