We use cookies to help provide you with the best possible online experience.
Please read our Privacy Policy and Cookie Policy for information about which cookies we use and what information we collect on our site.
By continuing to use this site, you agree that we may store and access cookies on your device.
2021-9-6
【ICHI LIVE】นวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยเสริมศักยภาพทางธุรกิจของ Diamond Grains
นวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยเสริมศักยภาพทางธุรกิจของ Diamond Grains
งาน ICHI LIVE ถูกจัดขึ้นในธีม "Digital, Innovation and Leadership"
ได้รับเกียรติจากผู้บริหารและผู้นำเทรนด์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน มาร่วมถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล
ซึ่งใน session 1 "Innovation x Leadership" คุณชนิสรา วงศ์ดีประสิทธิ์ (อูน) ได้มาร่วมเล่าประสบการณ์การใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีมาช่วยเปลี่ยนแปลงให้หลายสิ่งในธุรกิจของเธอง่ายขึ้น
ชนิสรา วงศ์ดีประสิทธิ์ (อูน) เจ้าของ “ไดมอนด์ เกรนส์” และอีก 4 แบรนด์ในเครือ คือ ผักฉ่ำคำหอม Auroraspotion Molecology และ Home to my heart เริ่มทำธุรกิจกับแฟนตั้งแต่อายุ 19 ปี ในช่วงแรกทำงานกันเพียง 2 คน ทำทุกอย่างตั้งแต่ อบขนม เก็บของ รับออเดอร์ ทำความสะอาด ทำทุกตำแหน่งจนรู้ Know How ของการทำงาน ทำให้ได้เรียนรู้ถึงงานที่ตนเองถนัดและไม่ถนัด เมื่อบริษัทเติบโตขึ้นก็สามารถเก็บงานที่ตนถนัดไว้ทำเองได้ ส่วนงานที่ไม่ถนัดก็สามารถหาคนมาทำงานได้ ในช่วงแรกการทำงานยังเป็นระบบ manual จนวันหนึ่งออเดอร์โตขึ้นเรื่อย ๆทำให้ทำงานไม่ทัน เช่น การที่แอดมินต้องพิมพ์เลขแทรกกิ้งสินค้าเองด้วยมือ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ก็เริ่มหันมาพึ่งพาเทคโนโลยี หาระบบยิงบาร์โค้ด ส่งข้อความหาลูกค้า หลังจากเริ่มใช้เทคโนโลยีก็เริ่มรู้สึกว่าบางกระบวนการในการทำงานสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยลดทอนภาระงานได้ โดยคงคุณภาพของบริการให้ดีเช่นเดิม เริ่มใช้ในการรับออเดอร์ แทรกสินค้า ระบบทรัพยากรบุคคลในการตามเช็คการทำงานของพนักงาน เมื่อบริษัทเริ่มมีรายได้มากขึ้น ก็ทำให้มีเงินไปลงทุนกับเครื่องจักรมากขึ้น เช่น เครื่องจักรที่ใช้ในการอบกราโนล่า ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีเครื่องจักรเช่นนี้ เราจึงเริ่มจากการเขียนความต้องการ และหาผู้ผลิตภายใต้ความต้องการที่จะควบคุม และพัฒนาคุณภาพของสินค้า ซึ่งการทำเช่นนี้ทำให้คุณภาพสินค้าดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะไม่ว่าลูกค้าจะกินตรงส่วนไหนของถุง คุณภาพและความสดใหม่ของสินค้าก็ยังเหมือนเดิม
หลังจากติดใจการใช้งานเครื่องจักรที่ออกแบบมาเพื่อการทำงานของเราโดยเฉพาะ คุณอูนก็เริ่มเพิ่มเครื่องจักรอื่น ๆ เช่น เครื่องใส่ท็อปปิ้ง ซึ่งแต่ก่อนเครื่องจักรจะมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นของแห้งเท่านั้น แต่บริษัทเรามีแคนเบอร์รี และผลไม้ที่ค่อนข้างเหนียวจึงไม่สามารถใช้งานเครื่องจักรเหล่านั้น เราจึงแก้ไขโดยการออกแบบเครื่องจักรที่สามารถนำมาใช้ให้ตรงตามความต้องการของเราได้ ซึ่งอาจจะใช้เวลาสักหน่อย อย่างเครื่องตรวจจับโลหะที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเทคโนโลยีแต่ละประเทศจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนตัวญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เทคโนโลยีมีความละเอียดเป็นอย่างมาก การดักจับโลหะจากซองที่เป็นอลูมิเนียมที่เป็นโลหะเช่นเดียวกันนั้นเป็นสิ่งทำได้ยาก แต่ทางประเทศญี่ปุ่นสามารถออกแบบให้เครื่องจักรสามารถตรวจจับโลหะในสินค้าได้โดยที่ซองอลูมิเนียมไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าการพัฒนาเครื่องตรวจจับโลหะนี้จะใช้เวลานานและราคาค่อนข้างสูง แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือความแม่นยำที่สูงมากเช่นกัน เมื่อธุรกิจเติบโตแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรก็จะมีมากขึ้น เพราะช่วยให้ลดการเกิดปัญหาที่ตามมาให้น้อยลง ส่งผลให้ปัจจุบันนอกเหนือจากวัตถุดิบแล้ว บริษัทก็มีการอัปเดทนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้วย
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องความมั่นคงแม่นยำในการทำงานก็ทำให้ workflow ดีขึ้น ทำให้ความรับผิดชอบของคนคนหนึ่งที่จะมีตอนลูปงานน้อยลง ซึ่งหากเกิดข้อผิดพลาดระบบจะแจ้งให้เรารู้ได้ว่าเกิดจากจุดใด สามารถย้อนกลับไปได้ว่าจุดผิดพลาดอยู่ที่ไหน และใครเป็นคนทำ ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด การมีระบบเช่น อย. GMP หรือระบบอื่น ๆ ตามแต่ละบริษัทจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้า เช่น ทางเราใช้ระบบ ISO22000 ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบโรงงานอาหาร และเข้ามาควบคุมการทำงานของพนักงาน รวมถึงการจัดการงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในช่วงแรกที่ทำการวางระบบอาจจะยากลำบากไปสักหน่อย ทำให้มีพนักงานลาออกไปหลายคน ซึ่งส่วนตัวก็มองว่าเป็นผลดีกับบริษัทเช่นเดียวกัน เนื่องจากคนที่ไม่ต้องการระบบ หรือไม่ต้องการโดนตรวจสอบ อาจแปลได้ว่าคน ๆ นั้นไม่ต้องการที่จะแก้ปัญหาหรือพัฒนาตัวเองให้ผิดพลาดน้อยลง แต่เมื่อเราวางระบบเรียบร้อยแล้ว กลับเป็นประโยชน์ต่อบริษัทอย่างมาก ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าจากการที่สามารถตรวจสอบการผลิตได้ตั้งแต่ต้นจนจบ และตอบข้อสงสัยของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ เราเองก็สบายใจว่าเมื่อไรที่ลูกค้ามีคำถาม เราจะมีคำตอบให้เสมอ หรือถ้าลูกค้ามีปัญหา เราก็มีทางแก้ ซึ่งเราใช้เวลาแก้ปัญหาสั้นลง จากเดิมที่ต้องใช้เวลาแก้ปัญหา 1-3 วัน แต่ในปัจจุบันสามารถรู้ถึงข้อผิดพลาดได้ใน 1 ชั่วโมง สามารถตักเตือนได้ถูกจุด และถูกต้อง อีกด้านหนึ่งระบบเหล่านี้ยังช่วยลดความขุ่นเคืองระหว่างทีมงานได้ จากเดิมที่หากเกิดข้อผิดพลาดก็จะโทษกันว่าเป็นความผิดของคนนั้นคนนี้ไปทั่ว แต่เมื่อระบบเป็นตัวชี้ว่าเกิดข้อผิดพลาด ก็จะทำให้ไม่มีอารมณ์ระหว่างบุคคลในทีมเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้คนในทีมสามารถตักเตือนกันได้ และทำให้เกิดการพัฒนาขึ้น การกลัวที่จะเห็นความผิดพลาดทำให้ไม่เกิดการพัฒนา และบริษัทก็จะย่ำอยู่กับที่ แต่ถ้าเราเห็นข้อผิดพลาด เรียนรู้และนำมาแก้ไข ก็จะทำให้บริษัทพัฒนาได้ดีขึ้น
นอกจากระบบจะเข้ามาดูแลทางด้านการผลิตแล้ว ยังมาช่วยเรื่องการสื่อสารในบางหน้าที่ เช่น ฝ่ายการตลาด สามารถใช้เทคโนโลยีได้ก็นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน โดยสามารถเทรนให้ทำงานที่บ้านได้ แล้วใช้ระบบในการตรวจสอบการทำงาน ตรงนี้จะช่วยประหยัดทรัพยากรในการหาออฟฟิศ และช่วยลดความเหนื่อยล้าของทีมงาน เพราะไม่จำเป็นต้องเดินทางทำให้มีเวลาคุยงานมากขึ้น และมีเวลาดูแลสุขภาพมากขึ้น นอกจากใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารภายในองค์กร แล้วยังใช้เพื่อสื่อสารกับลูกค้าเช่นเดียวกัน การทำออนไลน์ที่สามารถให้ทั้งลูกค้า องค์กร และทีมใช้งานได้นั้นจะต้องง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพมากพอ ซึ่งเราเองก็ต้องไล่พัฒนาและปรับปรุงให้ตามทันตามความต้องการของลูกค้า ต่อไปเทคโนโลยีจะไม่ได้แค่ช่วยให้ทำงานสะดวก แต่ต้องใช้ในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด จากเดิมที่ทำขึ้นเพียงเพื่อสื่อสารกับลูกค้า แต่ปัจจุบันหากเราช้ากว่าคู่แข่งก็อาจจะตายได้เช่นกัน ในโลกของธุรกิจทุกวัน คือ การแข่งขัน ถ้าเราไม่สามารถให้บริการที่มีประสิทธิภาพ หรือรวดเร็วแก่ลูกค้าได้เท่ากับคู่แข่ง จากที่เราเป็นผู้นำก็จะกลายเป็นผู้ตามได้เช่นเดียวกัน
เมื่อเกิดโควิดขึ้น บริษัทก็มีรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป เราต้องคิดเผื่อในอนาคตว่าพฤติกรรมของคนจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นคนในองค์กร หรือลูกค้าก็ตาม อีกอย่างหนึ่งจากเดิมที่มองเป็นภาพใหญ่ ก็ต้องมองในภาพเล็กด้วย เช่น รายละเอียดของบรรจุภัณฑ์ วัสดุที่ใช้ช่วยให้สินค้ามีอายุยืนนานได้แค่ไหน ซึ่งสิ่งนี้เทคโนโลยีก็สามารถช่วยได้เช่นกัน หากการบรรจุไม่ได้คุณภาพก็จะทำให้สินค้าเกิดความเสียหายก็จะส่งผลให้เกิดการเคลม ต่อให้จะใช้การลงทุนที่ต่ำกว่า ใช้เวลาที่สั้นกว่าในการพัฒนาสินค้า แต่เมื่อเกิดการเคลมบ่อย ๆ ก็จะกลายเป็นจุดที่เงินรั่วออกไป แน่นอนว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มันจะมีความยุ่งยากและวุ่นวาย แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงบริษัทก็จะไปไม่รอด การที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้เราก้าวไปข้างหน้า เพราะหากเรายังต้องมานั่งแก้ปัญหาเดิม ๆ อยู่ทุกวัน ก็จะไม่มีเวลาไปพัฒนาสินค้า
เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยเก็บหลักฐานในการทำงานของทุกส่วน ทำให้เมื่อเกิดปัญหาเราก็สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดและไม่เกิดความบาดหมางกัน โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก หากยังมองแค่ตัวเอง โดยไม่สนใจคู่แข่ง หรือบริษัทคู่ค้า เป็นเรื่องยากมากที่จะสามารถอยู่รอดในโลกของธุรกิจในอนาคต
**หากท่านต้องการรับชม ICHI LIVE ในพาร์ทของคุณชนิสรา วงศ์ดีประสิทธิ์ (อูน) ย้อนหลัง กรุณาลงทะเบียนเข้างาน JRIT ICHI แล้วกดเลือกวิดีโอที่ต้องการดูได้ใน Community Zone
RANKING
1
รับผลิต บันทึก และเผยแพร่ Webinar ในราคาเพียง 30,000 บาท
2
【ICHI LIVE】นวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยเสริมศักยภาพทางธุรกิจของ Diamond Grains
3
วิธีการที่จะประสบความสำเร็จในการจัดนิทรรศการในกรุงเทพมหานคร
4
【ICHI TALK】ขอแนะนำบริษัทสตาร์ทอัพของไทยอีกหนึ่งแห่ง ผู้ให้บริการโปรแกรมบัญชีคลาวด์
5
The era of New Normal